top of page

หลังคาและวัสดุมุงหลังคา เรื่องควรรู้ก่อนสร้างบ้าน

หลังคา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องใส่ใจกับมันมากทีเดียวค่ะ หลังคาช่วยในการปกป้องเราและตัวบ้านของเราจากแดด ลม ฝน ซึ่งหลังคาดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะนอกจากหลังคาจะมีคุณประโยชน์ในด้านการใช้งานแล้ว การเลือกรูปแบบของหลังคาที่เหมาะสมกับตัวบ้าน ก็จะทำให้บ้านดูดีมาแต่ไกลเลยละค่ะ ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะช่วยคุณตัดสินใจเลือกรูปแบบของมัน แต่วันนี้เรามีพื้นฐานของประเภทหลังคาแบบต่างๆมาให้คุณผู้อ่าน เพื่อจะได้สื่อสารกับสถาปนิกและผู้รับเหมาได้ง่ายขึ้นว่าคุณต้องการอะไรค่ะ

ประเภทของหลังคา…รูปทรงของหลังคาที่นิยมใช้กันมีอยู่ 5 แบบ คือ 1.หลังคา แบน หรือหลังคา SLAB ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นที่นิยมตามบ้านแบบโมเดิร์น โดยสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบนหลังคา เช่น ใช้เป็นที่พักผ่อน ตากผ้า หรือจัดสวนบนหลังคา ฯลฯ หลังคาแบนซึ่งทำด้วยคอนกรีตจะสะสมความร้อนไว้มากกว่าหลังคาแบบอื่นๆ ทำให้เกิดการคายความร้อนออกมาในช่วงที่อากาศเย็นลง คือ เวลากลางคืน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกร้อนอบอ้าวเมื่อกลับมาบ้านในเวลาเย็น การที่หลังคาแบนมีความลาดเอียงน้อย น้ำฝนจึงมักขังอยู่บนหลังคาได้ง่าย ทำให้เกิดการรั่วซึมอยู่บ่อยๆ หลังคาทรงนี้จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับบ้านเรือนที่พักอาศัยในเขตร้อน มักใช้คลุมพื้นที่เล็กๆภายในบ้าน เช่น ส่วนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างบ้านและเรือนบริการ

2. หลังคาเพิงหมาแหงน คือ เป็นหลังคาที่ยกให้อีกด้านสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ เหมาะสมสำหรับบ้านขนาดเล็ก เนื่องจากก่อสร้างง่าย รวดเร็ว ราคาประหยัด แต่ต้องระวังควรให้หลังคามีองศาความลาดเอียงมากพอ ที่จะระบายน้ำฝนออกได้ทันไม่ไหลย้อนซึมกลับเข้ามาได้


3. หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว คือ หลังคาที่มีสันตรงกลางและลาดลงทั้ง 2 ข้าง เป็นหลังคาที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทยเรา ความสะดวกในการก่อสร้าง สามารถกันแดดกันฝนได้ดี และสามารถระบายความร้อน ใต้หลังคาได้ดีอีกด้วย ซึ่งใต้หลังคาจะมีพื้นที่เยอะ อาจดูเหมือนเปลืองพื้นที่ แต่สามารถใช้ประโยชน์เป็นเป็นห้องใต้หลังคาได้

4. หลังคาทรงปั้นหยา เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝน ได้ทุกด้าน แต่ราคาค่อนข้างแพง  เนื่องจากเปลืองวัสดุมากกว่าหลังคาชนิดอื่นๆ ตลอดจนต้องใช้ช่างที่มีฝีมือพอสมควรในการก่อสร้าง เพราะมีรายละเอียดเยอะกว่าหลังคาชนิดอื่นๆ หลังคาปั้นหยาพบเห็นได้ในอาคารจำพวกรีสอร์ท หรือบังกะโล ไปจนถึงเรือนไทยซึ่งคุณสมบัติเด่นของมันคือการที่กันลมได้ดีกว่าหลังคาอื่น


5. หลังคาปีกผีเสื้อ   หลังคาชนิดนี้ประกอบด้วยหลังคาเพิงหมาแหงน 2 หลังหันด้านที่ต่ำกว่ามาชนกัน ไม่ค่อยเหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกชุกแบบเมืองไทยสักเท่าไร เนื่องจากต้องมีรางน้ำที่รองรับน้ำฝนจากหลังคาทั้ง 2 ด้าน ทำให้รางน้ำมีโอกาสรั่วซึมได้สูง จึงไม่เป็นที่นิยมสร้างกันมากนัก ยกเว้นอาคารที่ต้องการลักษณะเฉพาะพิเศษที่แปลกตาออกไป

โครงสร้างหลังคา…โครงสร้างหลังคาเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของหลังคาเลยนะคะ เพราะทำหน้าที่คงรูปทรงของหลังคาบ้าน โดยมีโครงสร้างหลังคาอยู่ 2 แบบ คือ 1.  โครงสร้างไม้ สามารถติดตั้งได้สะดวก ช่างธรรมดาสามารถติด ตั้งได้ เหมาะสำหรับบ้านไม้ เพราะการยึดติดกับเสาและคาน สามารถทำได้สะดวก แต่มีข้อเสียที่มีราคาค่อนข้างแพง และหาไม้ที่มีคุณภาพดีได้ ยาก มีการบิดงอง่าย ไม่เที่ยงตรง และมีปัญหาเกี่ยวกับปลวก 2.  โครงสร้างหลังคาเหล็ก มีความเที่ยงตรงในการทำงาน เหมาะสำหรับบ้าน ที่ก่อสร้างด้วยปูน มีราคาถูกกว่าไม้ ทั้งยังมีรูปแบบให้เลือกมากมาย แต่ต้องอาศัยช่างที่มีประสบการณ์ในการเชื่อมต่อโครงหลัง คาเหล็ก และถ้ามีการป้องกันผิวไม่ดี เวลาเกิดการรั่วซึมของหลัง คา จะมีปัญหาเรื่องการเกิดสนิมได้

ปัจจุบัน โครงหลังคามีวัสดุให้เลือกหลายชนิด โดยมีการผลิตวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ มาทดแทนเหล็กโครงสร้างแบบเดิม ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมระบบโครงสร้างหลังคาเหล็กพร้อมประกอบ เรียกว่าผลิตภัณฑ์โครงหลังคาเหล็กสมาร์ททรัส (Smartruss) ซึ่งเป็นโครงหลังคากึ่งสำเร็จรูปผลิตจากเหล็กเคลือบซิงคาลุม ซึ่งเป็นเหล็กเคลือบโลหะผสมระหว่างอลูมิเนียมกับสังกะสี ทำให้มีน้ำหนักเบา และกันสนิมได้ดีกว่าเดิมถึง 4 เท่า นอกจากนั้น เขายังคิดระบบวิธีการติดตั้งที่รวดเร็ว ประณีต ลดจำนวนของเสีย มีวิธีติดตั้งด้วยระบบสกรู ช่วยให้การก่อสร้างบ้านทำได้รวดเร็ว ปลอดภัยและสร้างความมั่นใจได้ จนเป็นที่นิยมกันอย่างรวดเร็ว มีโครงการต่างๆ เปลี่ยนมาใช้โครงหลังคาเหล็กสมาร์ทรัสกันหลายโครงการ

ชนิดของวัสดุมุงหลังคา 1.  วัสดุมุงหลังคาชนิดแผ่นกระเบื้อง สามารถแบ่งออกได้เป็น – กระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุธรรมชาติใช้เป็นวัสดุมุงหลังคากันมาแต่โบราณปัจจุบันใช้มุงหลังคาที่ต้องการโชว์หลังคาเช่น บ้านทรงไทย โบสถ์ วิหารกระเบื้องชนิดนี้ใช้มุงหลังคาที่มีความลาดเอียงมากๆ เพราะมีโอกาสจะรั่วได้


 กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์ วัสดุมุงหลังคาชนิดนี้มีความแข็งแรงและสวยงามแต่มีราคาค่อนค้างแพง และมีน้ำหนักมาก ทำให้โครงหลังคาที่จะมุงด้วยกระเบื้องชนิดนี้ต้องแข็งแรงขึ้นเพื่อรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคา กระเบื้องซีเมนต์มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ กระเบื้องสี่เหลียมขนมเปียกปูน ขนาดเล็กที่ใช้มุงกับหลังคาที่มีความลาดเอียงตั้งแต่ 30-45 องศา ส่วนอีกชนิดนั้นเป็นกระเบื้องที่เรียกกันว่า กระเบื้องโมเนียร์ซึ่งสามารถมุงหลังคาในความชันตั้งแต่ 17 องศา – กระเบื้องซีเมนต์ใยหิน หรือกระเบื้องเอสเบสทอสซีเมนต์ กระเบื้องชนิดนี้มีคุณสมบัติกันไฟ และเป็นฉนวนป้องกันความร้อน มีราคาไม่แพงและมุงหลังคาที่มีความลาดชันตั้งแต่ 10 องศา มีทั้งขนาดที่ใช้กับบ้านพักอาศัย และอาคารขนาดใหญ่กว่า

 – กระเบื้องลอนคู่ ระบายน้ำได้ดีกว่ากระเบื้องลูกฟูกเนื่องจากมีลอนที่ลึกและกว้างกว่า จึงนิยมใช้มุงหลังคามากกว่า – กระเบื้องคอนกรีตแผ่นเรียบ หรือเรียกว่าแผ่นชิงเกิ้ล มีความสวยงามเพราะผิวกระเบื้องมีความเนียนเรียบ 2.   วัสดุมุงหลังคาโลหะ (Metal Sheet) หรือหลังคาเหล็กรีด ทำจากแผ่นเหล็กอาบสังกะสีดัดเป็นลอน เคลือบสี จะมีรอยต่อน้อย สามารถรีดเป็นแผ่นยาวตลอดได้  จึงลดปัญหาการรั่วซึม นิยมใช้ในการมุงหลังคาขนาดใหญ่เพิ่มสีสันให้กับอาคารสมัยใหม่ เพราะให้ความรู้สึกบางเรียบ และสามารถดัดทำหลังคาโค้งได้สะดวก แต่วัสดุชนิดนี้มีปัญหาเรื่องความร้อน เนื่องจากหลังคาโลหะกันความร้อนได้น้อยมาก และมีปัญหาเรื่องเสียงในเวลาฝนตก

นอกจากนั้นยังมีวัสดุอื่น เช่น พลาสติกหรือไพเบอร์ที่เป็นแผ่นโปร่งใสทำเป็นรูปร่างเหมือนกระเบื้องชนิดต่างๆ เพื่อใช้มุงกับกระเบื้องเหล่านั้น ในบริเวณที่ต้องการแสงสว่าง และวัสดุประเภททองแดงหรือแผ่นตะกั่ว เป็นต้น

ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา…ในเมืองร้อนแบบประเทศไทย ฉนวนกันความร้อนเป็นสิ่งหนึ่งที่คงจะขาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะบรรเทาความร้อนที่จะส่งเข้าสู่บ้านคุณแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย ฉนวนกันความร้อนที่มีในบ้านเรานั้น มีดังนี้ค่ะ 1.   แผ่นเงาสะท้อนความร้อน เป็นแผ่นบางๆมันวาว เช่น พวกอลูมินั่มฟลอยส์ ทำหน้าที่หลักคือ การสะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้เข้ามาในบ้านเรา มักจะติดไว้ใต้หลังคากระเบื้อง  โดยแผ่นฟรอยด์จะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนที่แผ่ ลงมาจากกระเบื้อง ไม่ให้ผ่านมายังตัวห้อง ซึ่งจะทำให้ห้องเย็นและสามารถประหยัดแอร์ได้ด้วย 2.   แผ่นยิปซั่มบอร์ด เป็นแผ่นบางๆ ใช้กั้นผนังหรือทำฝ้าเพดาน บางแผ่นก็ติดแผ่นสะท้อนความร้อนเข้าไปด้วย แผ่นยิปซั่มบอร์ดนี้จะป้องกันการนำความร้อนได้ 3.   ใยแก้ว เป็นฉนวนกันความร้อนอีกตัวหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นฟูโปร่งด้วยเส้นใย สีเหลืองหรือสีขาว บางอย่าง จะมีแผ่นเงาสะท้อนรังสีความร้อนหุ้มอยู่ด้วย ความหนาโดยประมาณ ๒ – ๔ นิ้วฟุต น้ำหนักเบา ป้องกันความร้อนได้ดีมาก ติดตั้งง่าย โดยใช้ติดตั้งทั้งที่ฝ้า เพดานและผนัง 4.   สารจำพวกโพลียูรีเทนโฟม ที่ฉีดไปที่ผิววัสดุหลังคาเลย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นอกจากจะช่วยกันความร้อนแล้วยังช่วยกันเสียงและกันสนิมให้วัสดุที่เป็นเหล็กอีกด้วย

การเลือกหลังคาให้เหมาะสมกับบ้านของคุณต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างนะคะ ทั้งสภาพอากาศ ความแข็งแรงทนทาน  ความปลอดภัย ความสวยงามกลมกลืนและงบประมาณ รวมไปถึงการประหยัดพลังงาน ช่วยไม่ให้โลกร้อนขึ้น อย่าลืมว่าคุณภาพและภาพลักษณ์ต้องมาคู่กันนะคะ สิ่งที่ได้มาจึงจะคุ้มค่ากับที่คุณลงทุนไป ไม่ใช่สวยแค่รูปแต่ต้องจูบหอมด้วยค่ะ…

ขอบคุณที่มา  :  http://www.forfur.com เครดิตรูปภาพ : http://www.forfur.com

Comments


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page